- 1.ไอเดียการสร้าง visual บน miro เติมความสนุก เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานผ่านออนไลน์
- แนะนำฟีเจอร์ที่น่าสนใจใน miro
- ตัวอย่างไอเดียการใช้ miro ช่วยลดอุปสรรคในการสื่อสารทางออนไลน์
- 2. ประสบการณ์ก้าวข้าม Comfort Zone สู่ Learning Zone
- The Learning Zone Model
- ตัวอย่างการก้าวข้าม Comfort Zone สู่ Learning Zone
- อ้างอิง
- อ่าน LSI Sharing of the month ของเดือนอื่น ๆ
1.ไอเดียการสร้าง visual บน miro เติมความสนุก เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานผ่านออนไลน์
ทีมนักเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์พื้นที่เรียนรู้ในโปรแกรมบ่มเพาะพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน 2566 ของเราทั้ง 29 ทีม กระจายตัวกันอยู่ทั่วประเทศไทย การเดินทางมาพูดคุยกันตามกิจกรรมที่กำหนดไว้เกือบทุกสัปดาห์ทำให้มีข้อจำกัดทั้งเรื่องเวลา และค่าใช้จ่าย เราจึงคิดไอเดียการทำงานผ่านออนไลน์ขึ้นเพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดนี้ แต่ความท้าทาย คือ ทำอย่างไรให้การทำงานผ่านออนไลน์สร้างความเข้าใจร่วมกัน เห็นภาพตรงกันได้แบบเรียลไทม์ ลดอุปสรรคในการสื่อสารทางไกลให้ได้มากที่สุด
Visual platform เช่น miro ช่วยให้ทีมมองเห็นภาพรวมของงานแบบเรียลไทม์ได้บนกระดานออนไลน์ คล้ายกับการใช้กระดาษฟลิปชาร์ตหรือไวท์บอร์ดในวงประชุม เพื่อแชร์ไอเดียและข้อมูลต่างๆ ให้เห็นภาพร่วมกันได้
miro ยังสามารถเพิ่มความสนุกสนานให้กับทีมงานได้ด้วยฟีเจอร์ต่างๆ ช่วยให้การจัดการงานของทีมดูน่าสนใจและสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานได้มากขึ้น
แนะนำฟีเจอร์ที่น่าสนใจใน miro
- การใช้ sticky notes สีสันสดใสในการจัดการงาน
- การใส่ภาพต่างๆ เพื่อสร้างภาพรวมและความเข้าใจในงาน เป็นวิธีที่ช่วยให้ทีมงานมีความเข้าใจงานได้มากขึ้น และสามารถมีการสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานได้
- การใช้สัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือจัดกลุ่มชุดข้อมูล
ตัวอย่างไอเดียการใช้ miro ช่วยลดอุปสรรคในการสื่อสารทางออนไลน์
ทีมเยาวชนบ้านป่าเกี๊ยะ
ที่สนใจเริ่มต้นสร้างพื้นที่เรียนรู้ที่นำเอาวิถีวัฒนธรรมชาติพันธุ์ของตนเองมาเป็นแก่นแกนในการออกแบบพื้นที่เรียนรู้ในชุมชน ทีมนี้มีโค้ชมิ้นท์เป็นพี่โค้ชประจำทีม ที่น่ารักมากๆ พยายามใช้สติ๊กเกอร์สีสันต่างๆ ใน miro ช่วยให้น้องๆ เห็นระยะเวลาที่ต้องทำ worksheet และสิ่งที่ต้องทำชัดเจนจนจบโปรแกรม ไอเดียนี้จะช่วยให้ทีมทำงานตามเวลาไม่งงว่ากำลังทำอะไรอยู่ตรงไหน
ทีม LEN LA LEARN
ทีมชาวเกาะสมุยที่สนใจเริ่มต้นสร้างพื้นที่เรียนรู้บนเกาะสมุยให้เด็กบนเกาะได้มีพื้นที่เล่นพื้นที่เรียนรู้ ทีมนี้มีโค้ชตั๊กที่ไฟแรงนัดคุยกับทีมตลอดเกือบทุกสัปดาห์ เพื่อระดมไอเดียและนำข้อมูลที่ทีมสำรวจพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ปัญหามา จัดกลุ่ม วิเคราะห์ เพื่อขึ้นไอเดียการสร้างพื้นที่เรียนรู้บนกระดาน miro ทีมนี้ใช้ทั้งสติ๊กเกอร์ รูปภาพ เพื่อทำให้โค้ชกับทีมเห็นภาพของข้อมูลที่ตรงกัน
2. ประสบการณ์ก้าวข้าม Comfort Zone สู่ Learning Zone
เป็นเรื่องปกติที่เราต้องพบกับความรู้สึกไม่สบายใจกับการทำสิ่งใหม่ๆ ที่เราไม่คุ้นเคยมาก่อน บางครั้งเราอาจจะกล้าที่จะก้าวข้ามมันไปสู้กับมัน แต่บางครั้งเราก็เลือกที่จะถอยกลับมาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยของเรา สิ่งนี้น่าจะอธิบายได้ด้วย The Learning Zone Model ที่เราอยากชวนมาเรียนรู้ด้วยกันในเรื่องราวนี้
The Learning Zone Model เป็นแนวคิดทางจิตวิทยาที่อธิบายว่าคนพัฒนาตนเองผ่านโซนการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการเติบโตและพัฒนาทักษะใหม่ๆ ที่เกินจากที่เคยรู้หรือทำได้ โดยในโซนการเรียนรู้นั้น จะต้องเสี่ยงกับความเสี่ยงที่เหมาะสม และใช้ความพยายามเพิ่มเติม เพื่อออกจากโซนความสะดวกสบาย และพัฒนาตนเองไปอย่างต่อเนื่อง การทำความเข้าใจกับ The Learning Zone Model จะช่วยให้เราเข้าใจว่า การพัฒนาตนเองไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่จำเป็นต้องใช้ความพยายาม และมีความเชื่อมั่นเป็นองค์ประกอบ
The Learning Zone Model
Comfort Zone: โซนความสะดวกสบาย เป็นพื้นที่ที่เรารู้สึกสบายใจในนั้น ในพื้นที่ส่วนนี้เรารู้และสามารถทำได้ทุกอย่างแล้ว และทำอยู่เป็นประจำ ไม่มีความเสี่ยงใดๆ เราใช้ทักษะและความสามารถลงมือทำได้อย่างมั่นใจและเกิดผลลัพธ์ที่ต้องการได้ เราตระหนักถึงจุดแข็งและความสามารถของเราเป็นอย่างดีในพื้นที่นี้ ซึ่งก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะทำให้เรากลับมาทบทวนตัวเองได้ แต่ก็มีพื้นที่ให้เรียนรู้ได้ไม่มากนัก
Learning Zone: โซนการเรียนรู้ ในพื้นที่นี้มีสิ่งที่เรายังไม่รู้และเรายังไม่มีประสบการณ์จริง เราสามารถใช้ทักษะและความสามารถเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายได้ แต่เราต้องเรียนรู้ ต้องใช้ความกล้าหาญและความมุ่งมั่นเพราะเราจะไม่รู้สึกสบายใจและปลอดภัยอีกต่อไป อาการเหงื่อออกและใจสั่นเป็นสัญญาณที่ชัดเจนของการก้าวออกจาก Comfort Zone ของคุณ เรากำลังเผชิญกับโอกาสที่จะได้เรียนรู้ ซึ่งจะช่วยขยายและเติบโต Comfort Zone ของเราให้กว้างขึ้นอย่างช้าๆ
Panic Zone: โซนความหวั่นวิตก พื้นที่นี้คือสิ่งที่ทำให้เรากลัวและเราอาจจะไม่สามารถรับมือกับมันได้ในการเรียนรู้ มันดู “ใหญ่เกินไปหนึ่งหรือสองไซส์” สำหรับเรา เราไม่สามารถควบคุมอะไรได้ และดูเหมือนต้องใช้พลังทั้งหมดในการจัดการกับความวิตกกังวล ทุกสิ่งที่อยู่ในนั้นห่างไกลเกินไปและแปลกไปจากตัวเรา สถานการณ์แบบนี้ไม่สามารถเกิดการเรียนรู้ได้
ตัวอย่างการก้าวข้าม Comfort Zone สู่ Learning Zone
ทีมธรรมมือสตูดิโอ
แซ็คและเยล ธรรมมือสตูดิโอ พื้นที่เรียนรู้ จ.อุตรดิตถ์ เริ่มต้นเดินทางร่วมกับเราในโปรแกรมบ่มเพาะพื้นที่เรียนรู้ฯ เล่าว่า ที่ผ่านมาเรามีความเป็นตัวของตัวเอง เลือกทำในสิ่งที่อยากทำ โดยเฉพาะงานเขียน งานที่ต้องใช้ความคิดแบบ การบ้าน worksheet ที่ต้องไปค้นหาข้อมูล วิเคราะห์ และทบทวนการทำงานของตัวเอง เป็นสิ่งที่เราไม่ชอบเลยตั้งแต่สมัยเรียน แต่เมื่อได้คุยกับทีมโค้ช พวกเราเริ่มก้าวข้าม Comfort Zone ของตัวเองโดยตัดสินใจลองทำ worksheet ก่อนมาคุยกับโค้ชทุกครั้ง ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา เราทำ worksheet 3-4 เครื่องมือ ด้วยความไม่มั่นใจเลยสักครั้ง แต่ก็พร้อมที่จะเรียนรู้ ร่วมกับโค้ช เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในโครงการร่วมกัน
Space เล่าเต้งมุมบายใจ
ฉ๊ะ เริ่มต้นสร้างพื้นที่เรียนรู้ที่ชื่อว่า Space เล่าเต้งมุมบายใจ พื้นที่เรียนรู้ที่เกาะทุ่งนางดำ จ.พังงา จากความตั้งใจที่จะสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้กับเด็กในเกาะ 13 คน ให้เป็น “พื้นที่ชีวิต จากรากเหง้าสู่อนาคตของเราร่วมกัน พื้นที่ที่เต็มไปด้วยความรู้ ความรัก ความฝัน อนาคตและความรุ่มรวยทางจิตวิญญาณ” ตอนสมัครเข้าร่วมโปรแกรมบ่มเพาะฯ ฉ๊ะมองว่าตัวเองน่าจะอยู่ใน track ของ Pre-incubation ซึ่งเป็นโปรแกรมที่เหมาะกับทีมที่เพิ่งเริ่มต้นสร้างพื้นที่เรียนรู้และกำลังหาไอเดีย แต่เมื่อได้พูดคุยกับโค้ช และเริ่มทำการบ้านในโปรแกรมฯ กลับพบว่าฉ๊ะมีความพร้อมที่จะเริ่มต้นขยายงานแล้ว แต่ที่ผ่านมา ฉ๊ะยังไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเองในการสร้างสรรค์พื้นที่เรียนรู้ จึงเลือกเข้าโปรแกรม Pre-incubation แต่เมื่อเริ่มทำ worksheet กลับพบว่า ฉ๊ะ สามารถทบทวน แชร์ข้อมูลเชิงลึก และวิธีการสร้างสรรค์พื้นที่เรียนรู้ของตัวเองได้อย่างดี เราจึงชวน ฉ๊ะให้เปลี่ยนโปรแกรมเป็น Pre-scale เพื่อเตรียมพร้อมในการขยายงาน ฉ๊ะตอบตกลงและพร้อมเรียนรู้ เพื่อทำให้เด็กๆ ในเกาะอื่นๆ ได้มีพื้นที่เรียนรู้เช่นเดียวกับที่ เกาะทุ่งนางดำ ตามที่ฉ๊ะตั้งใจไว้
จากตัวอย่างทั้ง 2 ทีมสอดคล้องกับผลการศึกษาของ Stanford d.school ที่พบว่าความสำคัญของการเชื่อมโยงระหว่าง Comfort Zone และ Learning Zone จำเป็นจะต้องมี เหมือนสายนิรภัยที่ยึดโยงนักบินอวกาศกับยานสำรวจเมื่อต้องออกนอกยาน เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจ และความเชื่อมั่นที่จะเผชิญหน้ากับความคลุมครือใน Learning Zone ซึ่งตัวอย่างของสายนิรภัยนี้ คือ ผู้ร่วมงาน, เครื่องมือที่จับต้องได้, เวลาในการเรียนรู้, เรื่องเล่าที่สร้างแรงบันดาลใจ และกระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลง
อ้างอิง
Hasso Plattner Institute of Design at Stanford University. (May, 2019). How do we push the boundaries of the Learning Zone without dipping into the Panic Zone?. https://dlibrary.stanford.edu/ambiguity/learning-zone-reflection-tool
Senninger, T. (2000). Abenteuer leiten – in Abenteuern lernen. Münster: Ökotopia.