LSI Sharing of October ข่าวสารและเรื่องราวน่าสนใจประจำเดือนตุลาคม
- LSI Sharing of October ข่าวสารและเรื่องราวน่าสนใจประจำเดือนตุลาคม
- Highlight of the Month:
- การพบกันบนพื้นที่จริงของโค้ชและทีมมูลนิธิไทยอาทร
- Knowledge Sharing of the Month:
- ทดสอบต้นแบบ ... แล้วยังไงต่อ
- Update of the Month:
- Team Visit ณ LALAPOR จังหวัดตาก
- อ่าน LSI Sharing of the month ของเดือนอื่น ๆ
Highlight of the Month:
เรื่องราวน่าประทับใจจากโปรแกรม Learning Space Incubation
การพบกันบนพื้นที่จริงของโค้ชและทีมมูลนิธิไทยอาทร
เมื่อวันที่ 24-25 ตุลาคมที่ผ่านมา โค้ชประจำทีมมูลนิธิไทยอาทร พร้อมกับทีม School of Changemakers ได้เดินทางไป ‘เฮือนปันฮัก’ ตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่เรียนรู้ของทีมมูลนิธิไทยอาทร เพื่อไปพูดคุย ทำความเข้าใจ และวางแผนการทำงานร่วมกันกับทีม โดยการได้ไปลงพื้นที่จริงครั้งนี้ ทำให้ทั้งโค้ชและทีมได้เห็นภาพร่วมกันชัดเจนมากขึ้น รวมถึงได้แบ่งปันกำลังใจในการทำงานสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมต่อไปให้กันและกัน
มูลนิธิไทยอาทร เริ่มต้นการทำงานโดยพบปัญหาพัฒนาการเด็กไม่สมวัยในชุมชน จึงจัดกิจกรรมร่วมกับชุมชนผ่านกลไกการปกครองส่วนท้องถิ่น ตำบลนาหนองทุ่ม จังหวัดขอนแก่น โดยร่วมมือทั้งกับอบต. รพสต. และคนในชุมชน เพื่อสร้างระบบการดูแลเด็กร่วมกันจนประสบความสำเร็จ เป้าหมายต่อไปคือ การพัฒนาพื้นที่และการทำงานให้เป็นศูนย์บริการถ่ายทอดองค์ความรู้ระบบการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยและครอบครัวอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนให้กับตำบลอื่นๆ ขยายผลจากพื้นที่เรียนรู้ระดับตำบลมาเป็นระดับอำเภอ
คำบอกเล่าจากโค้ชเมฆ (โค้ชประจำทีมมูลนิธิไทยอาทร)
‘ได้สัมผัสถึงความตั้งใจและบรรยากาศความร่วมมือของทั้งทีม รวมถึงเห็นภาพอุปสรรคที่ยังทำให้ทีมติดขัดอยู่ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุน หรือเรื่องความเหนื่อยล้าจากการทำงานมาเป็นระยะเวลานาน การไปครั้งนี้ก็ได้ทั้งไปทำงาน ทำให้ทีม โค้ช และ School of Changemakers เองเห็นภาพร่วมกัน เป้าหมายยังเป็นเป้าหมายเดิม แต่วิธีการอาจจะปรับเปลี่ยนไปเล็กน้อย นอกจากนี้ก็ยังได้ไปให้กำลังใจทีมด้วย’
Knowledge Sharing of the Month:
ข้อมูลความรู้ที่น่าสนใจและมีประโยชน์สำหรับการสร้างพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน
ทดสอบต้นแบบ ... แล้วยังไงต่อ
เมื่อเดือนที่แล้ว และตลอดเดือนที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ทีมสร้างพื้นที่เรียนรู้ได้ test prototype กัน หลายทีมได้ข้อมูลมาวิเคราะห์แล้ว บ้างต้องไปปรับต้นแบบใหม่ บ้างต้องไปคิดไอเดียใหม่ หรือบ้างอาจจะต้องไปเพื่อทำความเข้าใจปัญหาใหม่ ซึ่งหลายทีมอาจจะคิดว่าเป็นความล้มเหลว ที่ต้องย้อนกลับไปเริ่มต้นใหม่ในบางจุด นอกจากนี้บางทีมอาจพบว่าโมเดลการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้นมาถูกทางแล้ว แต่พอจะคิดโมเดลทางธุรกิจ กลับสร้างภาวะอึดอัดใจอย่างบอกไม่ถูก มาถึงตรงนี้ หลายๆ คนก็น่าจะกำลัง มีคำถามผุดขึ้นมาในความคิดว่า แล้วยังไงต่อดีล่ะ ...
วันนี้จึงอยากเล่าเคสของ TP Packaging Solution ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ ที่จะทำให้เราเห็นว่า การทดสอบต้นแบบนั้น ไม่ใช่การวัดความสำเร็จ แต่เป็นการเรียนรู้ ดังนั้น อะไรไม่ได้เป็นไปตามแผน หรือผลลัพธ์ไม่เป็นอย่างที่เราคิดไว้ หากเราเอามาเรียนรู้ เราก็สำเร็จที่ได้เรียนรู้ และเราก็จะรู้ว่าเราจะทำให้ดียิ่งขึ้นต่อไปได้อย่างไร
TP Packaging Solution กิจการเพื่อสังคมที่ให้บริการเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกเพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกง่ายขึ้น ก่อตั้งโดย 2 พี่น้อง ป๊อป - ภัทรวุฒิ และ ภัฏ เตชะเทวัญ ที่ฝันอยากเห็นบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากโฟมหายไปจากประเทศนี้
ปัญหา
เมื่อปี 2559 (คศ. 2016) ในขณะที่ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของการใช้โฟมเป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร และปัญหาการกำจัดขยะโฟมได้ถูกเผยแพร่กว้างขึ้น นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์ให้ใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกและมีการผลิตบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกที่สามารถย่อยสลายได้อย่างรวดเร็วเป็นทางเลือกเกิดขึ้นมากมายหลายชนิด และมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การใช้บรรจุภัณฑ์โฟมกลับยังไม่ค่อยลดลงเลย ซึ่งทำให้ ป๊อปกับภัฏ ตั้งคำถามว่า “ทำไม”
ข้อมูลตั้งต้น
TP จึงเริ่มไปทำความเข้าใจปัญหาเพิ่มขึ้นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก คือ ลูกค้าที่ซื้อของที่มาในบรรจุภัณฑ์จากพ่อค้าแม่ค้า, พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของซึ่งบรรจุในบรรจุภัณฑ์ และ ร้านค้าที่ขายบรรจุภัณฑ์ให้พ่อค้าแม่ค้า ทำให้พบว่า
- ลูกค้าส่วนใหญ่ตระหนักว่าบรรจุภัณฑ์โฟมอันตรายและกำจัดยาก อยากใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก และยินดีที่จะจ่ายเพิ่ม แต่ยังมีแม่ค้าจำนวนไม่มากที่เลือกใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก
- พ่อค้าแม่ค้าบอกว่าหาซื้อบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกยาก มีของบ้างไม่มีของบ้าง และการใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่า ซึ่งพ่อค้าแม่ค้ารายได้ไม่มากและไม่แน่นอน การลงทุนเพื่อซื้อบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกมาใช้ จึงไม่ใช่ความสำคัญอันดับต้นๆ ที่จะทำ
- ร้านค้าบอกว่าเอาบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกมาขายแล้วขายไม่ดี และไม่เชื่อว่าจะขายได้
จากข้อมูลที่ได้จะเห็นว่าเหตุของปัญหา ไม่ใช่การที่คนไม่รู้ผลเสียของการใช้โฟม ไม่ใช่ว่าผู้บริโภคไม่อยากใช้ หรือไม่ยอมจ่าย แต่บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกในขณะนั้น ดูจะยังเข้าถึงได้ยากทั้งในแง่แหล่งจำหน่ายและราคา ดังนั้นในการแก้ปัญหานี้ แทนที่จะตั้งโจทย์ว่า ทำอย่างไรให้คนหันมาใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก TP ได้เฟรมปัญหาว่า ทำอย่างไรผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าถึงบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกได้ และทำอย่างไรให้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้ชีวิตพัฒนาชีวิตและเศรษฐกิจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ด้วย
วิธีแก้ปัญหา
Cr. ภาพจาก Youtube School of Changemakers: Prototype to learn โดย TP Packaging Solution
ใน 3 เดือนแรก TP ได้คิดไอเดียแก้ปัญหาและสร้างต้นแบบไปทดสอบทั้งหมด 9 ต้นแบบ ในที่นี้จะขอยกตัวอย่าง 4 ต้นแบบที่น่าสนใจ เพื่อให้เราได้เข้าใจว่า เราจะเรียนรู้จากการทดสอบต้นแบบเพื่อไปต่อได้อย่างไรบ้าง
ต้นแบบที่ 1 - แก้ปัญหาการลงทุนที่สูงขึ้นของพ่อค้าแม่ค้าหากใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก
TP ได้ชวนพ่อค้าแม่ค้าจาก 4-5 ร้าน ร่วมทดลอง โดย TP ให้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกแก่พ่อค้าแม่ค้า ร้านละ 10 ชิ้น พร้อมทำป้ายติดไว้หน้าร้านรถเข็นว่า “รักษาสุภาพ เพียงเพิ่มเงิน 5 บาท เพื่อใช้กล่องถูกสุขอนามัย” เพื่อทดสอบว่าจะมีลูกค้ายอมจ่ายเพิ่มไหม ถ้ามีลูกค้ายอมจ่ายเพิ่ม ร้านค้าค่อยมาซื้อบรรจุภัณฑ์เพิ่มกับ TP โดย TP จะขายให้ชิ้นละ 2 บาท แปลว่าถ้ามีลูกค้ามาซื้อพ่อค้าแม่ค้าก็จะได้มูลค่าเพิ่ม 3 บาท
ผลลัพธ์ - ในระยะเวลา 1 เดือนต่อมา ทุกร้านมีลูกค้าที่ยอมจ่ายเพื่อบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ต่อมามีคนโพสต์ใน PANTIP.COM ว่าพบแม่ค้าหัวใส ซื้อบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก 2 บาทมาขาย 3 บาทเอากำไรเกินควร น่าจะมีความผิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค สร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีให้กับบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก แปลว่าผู้บริโภคส่วนหนึ่งไม่ยอมรับวิธีการนี้ TP จึงหยุดต้นแบบนี้ทันที
การทดลองต้นแบบนี้ทำให้ได้รู้ว่า มีผู้บริโภคถึง 50% ที่ต้องการใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ส่วนพ่อค้าแม่ค้าก็ต้องการซื้อบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกไว้ขายเพราะสร้างรายได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามการสื่อสารกับคนจำนวนมากต้องมองกว้างๆ ว่าจะสื่อสารอย่างไรให้คนยอมรับในระยะยาว
ต้นแบบที่ 2 - แก้ปัญหาการที่พ่อค้าแม่ค้าหาซื้อบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกยากและไม่ต่อเนื่อง โดยการทำให้เห็น success case
TP ได้ทดลองเอาบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก 1 ลัง ไปเสนอขายให้ร้านค้าขายบรรจุภัณฑ์ โดยตรงเพื่อให้ร้านค้ามีของในคลังเสมอ พ่อค้าแม่ค้าจะได้มีแหล่งซื้อบรรจุภัณฑ์ที่สะดวก แต่ร้านค้าบอกว่าเคยเอามาขายแล้ว แต่ขายไม่ได้ TP พยายามพูดคุยทำให้ร้านค้ามั่นใจว่าขายได้แน่ๆ ก็ไม่เชื่อ แม้มีแม่ค้ามาซื้อก็ไม่ยอมขายให้เพราะไม่ไว้ใจ คิดว่าแม่ค้าร่วมมือกันหลอกร้านค้าให้ซื้อของ TP ภายใน 1 เดือน TP ขายได้ 200 บาท จากความสงสารของร้านค้าร้านหนึ่งที่เห็นความพยายามเลยช่วยซื้อ
ต่อมา TP พบว่ามีโรงเรียนสอนพิเศษแห่งหนึ่ง เปิดสอนพิเศษเด็กๆ เฉพาะตอนเย็นหลังเลิกเรียน จึงขอเช่าที่ตอนกลางวันเพื่อฝากขายบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก โรงเรียนสอนพิเศษก็ได้ประชาสัมพันธ์โรงเรียนด้วย พร้อมกับมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการให้เช่าที่วางของและการฝากขาย เมื่อแม่ค้าไปซื้อของและเดินกลับมาที่ร้านตัวเองก็จะต้องผ่านร้านค้าบรรจุภัณฑ์ แต่ร้านค้าก็ยังเชื่อว่าแม่ค้าที่มาซื้อของเป็นหน้าม้า และคิดว่า TP เป็นสรรพากร จึงยังไม่ยอมซื้อบรรจุภัณฑ์รรักษ์โลกมาขาย นอกจากนี้พอโรงเรียนสอนพิเศษมีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นจนเป็นที่พอใจแล้วก็ไม่มีความต้องการประชาสัมพันธ์ และขี้เกียจมีภาระเพิ่มในการทำ stock
ผลลัพธ์ - พ่อค้าแม่ค้ายอมเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก แต่ร้านค้าบรรจุภัณฑ์ยังไม่ยอมซื้อบรรจุภัณฑ์รรักษ์โลกมาขาย TP จึงหยุดต้นแบบนี้และคิดไอเดียใหม่เพื่อทดสอบต้นแบบต่อไป
การทดลองต้นแบบนี้ทำให้ได้รู้ว่า การมีของขายต่อเนื่อง ทำให้พ่อค้าแม่ค้ายอมเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ความไม่มั่นใจว่าจะขายได้ และความไม่ไว้ใจ ทำให้ร้านค้าบรรจุภัณฑ์ยังไม่ยอมซื้อบรรจุภัณฑ์รรักษ์โลกมาขาย
ต้นแบบที่ 3 แก้ปัญหาการที่พ่อค้าแม่ค้าหาซื้อบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกยากและไม่ต่อเนื่อง โดยการพิสูจน์ให้เห็นประโยชน์
เมื่อ TP โน้มน้าวร้านค้าบรรจุภัณฑ์ร้านแรกไม่สำเร็จ จึงไปสำรวจร้านค้าอื่นที่พ่อค้าแม่ค้าเคยซื้อบรรจุภัณฑ์อยู่แล้ว และลองเสนอขาย ซึ่งก็ถูกปฏิเสธเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าร้านค้าแรกที่เคยปฏิเสธ เมื่อเห็น TP เอาไปเสนอขายร้านคู่แข่ง จึงเรียกกลับไปคุยใหม่ ครั้งนี้ ร้านค้าได้เสนอให้ TP เอาของมาลงที่ร้านและห้ามเอาไปลงที่ร้านอื่น
ต่อมา เมื่อ TP ได้เก็บข้อมูลการจัดการร้านค้าเพิ่มขึ้น พบว่าปัจจุบันร้านค้าใช้พื้นที่วางบรรจุภัณฑ์โฟม 30-40% ของร้านค้า แต่มีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์โฟมไม่เกิน 2,000 ต่อเดือน ในขณะที่บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกจะใช้พื้นที่เพียง 10% และจะทำกำไรเพิ่มขึ้น 3,000-5,000 บาท TP จึงได้ทดลองช่วยบริหารพื้นที่และคลังสินค้าของร้านค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น TP ได้ชวนให้ร้านค้าแบ่งพื้นที่ไม่น้อยกว่า 10% เพื่อลงบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก โดยไม่บอกให้เลิกขายโฟม เพื่อป้องกันการต่อต้าน และต้องการให้ร้านค้าพิสูจน์ด้วยตนเอง เมื่อร้านค้าเห็นว่าได้กำไรมากกว่าจริง จึงยอมซื้อบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกจาก TP ไปขายอย่างต่อเนื่อง พ่อค้าแม่ค้าก็จะหาร้านที่จำหน่ายบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกได้ง่ายและต่อเนื่องขึ้น ขายของได้ราคามากขึ้น TP เองก็มีรายได้จากการขายของได้มากขึ้น
การทดลองต้นแบบนี้ทำให้ได้รู้ว่า ร้านค้าจะยอมซื้อผลิตภัณฑ์รักษ์โลกไปขายต่อเมื่อเชื่อมั่นว่าจะขายได้จริง และร้านค้าไม่มีเวลาทำเรื่องอื่นนอกจากขายของ เช่น ไม่มีเวลาเช็คสต๊อค ทำให้ไม่สามารถวางแผนการซื้อของมาเติมสต๊อคให้มีสินค้าขายอย่างต่อเนื่อง เป็นที่มาของการที่พ่อค้าแม่ค้าสะท้อนว่าหาซื้อบรรจุภัณฑ์รรักษ์โลกยาก
ต้นแบบที่ 4 แก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของพ่อค้าแม่ค้า
TP พยายามช่วยทำให้พ่อค้าแม่ค้าเข้าถึงบริการทางการเงินจากการมีบัตรเครดิต - จากความจริงที่ว่า ธนาคารต้องการขายบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่พ่อค้าแม่ค้าไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินนี้ เพราะไม่มีสลิปเงินเดือน TP จึงไปคุยกับธนาคารว่าจะสามารถให้วงเงินบัตรเครดิตพ่อค้าแม่ค้าได้จะต้องทำอย่างไรบ้าง จากนั้น TP ก็ใช้ฐานข้อมูลของพ่อค้าแม่ค้าที่เป็นลูกค้า TP เพื่อคาดคะเนดูว่าในแต่ละวันพ่อค้าแม่ค้าขายได้วันละกี่บาท และคำนวณรายได้ต่อเดือนได้ เมื่อทราบรายได้ต่อเดือน ก็กลับไปคุยกับธนาคารอีกครั้ง จนในที่สุดธนาคารยอมอนุมัติบัตรเครดิตให้พ่อค้าแม่ค้ากลุ่มทดลอง 10 ราย โดยกำหนดวงเงินร่วมกัน และมีเงื่อนไขว่าจะต้องใช้บัตรเครดิตนี้ซื้อของกับ TP เท่านั้น จากนั้นข้อมูลการใช้บัตรเครดิตต่อเนื่อง 6 เดือน ก็จะเป็นฐานข้อมูลเงินเดือนของพ่อค้าแม่ค้า เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าได้เข้าถึงบริการทางการเงิน ไม่ต้องเป็นหนี้นอกระบบ ธนาคารก็จะได้ประโยชน์จากการมีลูกค้าบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น และได้ภาพลักษณ์ในการช่วยเหลือสังคมด้านสิ่งแวดล้อม พ่อค้าแม่ค้า ก็ได้วงเงินที่เป็น credit term ซึ่งจะสามารถทำให้ซื้อบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกล็อตใหญ่จาก TP ได้ เป็นการลดต้นทุน สร้างกำไรได้มากขึ้น บรรจุภัณฑ์ที่เป็นโฟมก็จะลดลง การเป็นหนี้นอกระบบก็จะลดลงไปในตัว
ผลลัพธ์ - มีผลตอบรับจากพ่อค้าแม่ค้าค่อนข้างดี จึงติดต่อไปที่ธนาคารเพื่อขอทำบัตรเครดิตให้พ่อค้าแม่ค้าเพิ่ม จำนวน 100 ราย โดยจำกัดวงเงินตามยอดซื้อของแต่ละคน แต่ครั้งนี้ธนาคารไม่อนุมัติ เนื่องจากธนาคารไม่มีนโยบายทำเรื่องนี้ต่อแล้ว TP จึงต้องยกเลิกต้นแบบนี้ไปโดยปริยาย พร้อมๆ กับต้องไปทำความเข้าใจกับพ่อค้าแม่ค้าทั้งตลาดที่เกิดความไม่สบายใจที่ TP เอาหลักฐานแสดงตัวตน เช่น บัตรประชาชน ไปยื่นธนาคาร
การทดลองต้นแบบนี้ทำให้ได้รู้ว่า บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกสามารถเป็นสื่อกลางในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้ รวมไปถึง การใช้ข้อมูล เช่น ยอดขาย จำนวนสต๊อค เป็นข้อมูลที่สามารถนำไปช่วยร้านค้าได้ จึงเริ่มเก็บข้อมูลต่างๆ อย่างเป็นระบบมากขึ้น อย่างไรก็ตามการเลือกพาร์ทเนอร์ควรมองเป้าหมายระยะยาวให้ตรงกันตั้งแต่ต้น และคุยข้อตกลงกันให้ชัดเจน ไม่ควรเลือกพาร์ทเนอร์โดยดูจากผลประโยชน์ระยะสั้นที่ดีที่สุดเท่านั้น
ผลลัพธ์
Cr.ภาพจาก Youtube School of Changemakers: Prototype to learn โดย TP Packaging Solution
TP เริ่มจากเงินลงทุน 2,000 บาท โดยไม่มีเงินลงทุนจากนักลงทุน หรือเงินบริจาค เดือนแรกที่เริ่มทำกิจการ TP มียอดขาย 200 บาท จากการเเก็บทุกๆ ประสบการณ์มาเรียนรู้ และไม่ยอมล้มเลิกความตั้งใจ ภายในเวลา 4 ปี TP มียอดขาย 66 ล้าน และลดการใช้โฟมได้ 33 ล้านชิ้น
สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของ TP Packaging Solution คือ
- การเฟรมปัญหาที่ดี ทำให้ได้ทางแก้ที่ตรงกับปัญหามากขึ้น - ความพยายามทำให้คนเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกมีมานานมาก ก่อนที่ TP จะเริ่มทำโปรเจกต์นี้ ถ้า TP ตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรให้คนหันมาใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ก็คงจะได้ทางแก้ที่ไม่ต่างไปจากเดิมมากนัก คือ การรณรงค์ การบังคับ หรือ การมีคิดค้นผลิตบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกแบบต่างๆ มากขึ้น แต่การที่ TP เข้าไปทำความเข้าใจผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และตั้งคำถามใหม่ว่า ทำอย่างไรให้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกช่วยพัฒนาทั้งชีวิตและเศรษฐกิจพวกเขาได้ ทำให้เกิดไอเดียในการแก้ปัญหาแบบใหม่ ที่ทำให้จิ๊กซอว์แต่ละตัวยอมรับและเปลี่ยนมาสนับสนุนบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกแบบที่ win กับทุกฝ่าย รวมทั้งธุรกิจของ TP เองด้วย
- มุมมองต่อ ความสำเร็จ หรือ ความล้มเหลว - เมื่อผลลัพธ์ไม่ตรงตามสมมติฐาน TP ไม่ได้มองว่าเป็นความล้มเหลว แต่มันคือการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ จากสิ่งที่ได้ลอง ถ้าเราไม่ได้ลอง เราก็จะไม่ได้เรียนรู้ และไม่ได้คิดหาทางออกที่หลากหลาย ทุกๆ ประสบการณ์หากเราเรียนรู้จากมัน จะทำเราได้คิดต่อยอดไปเรื่อยๆ ดังนั้น เมื่อได้ทดลองต้นแบบแล้ว ควรให้เวลากับการสะท้อนมุมมองของตัวเองจนตกผลึกว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องนั้นๆ เพื่อไปต่อได้บ้าง โดยใช้เวลาใคร่ครวญว่าเราควรจะลองอะไรใหม่ๆ อย่างไร หรือมีวิธีคิดอื่นอย่างไรกับปัญหานี้ได้บ้าง ซึ่งหากใช้เวลาในการเรียนรู้น้อย เราไปข้างหน้าได้ยาก พอเจอปัญหาเดิมๆ ก็มักจะแก้ด้วยวิธีเดิมๆ อยู่ที่เดิมต่อไป
- มองหาช่องว่างและโอกาสในการพัฒนาโปรเจกต์ ตัวอย่างเช่น จากการพบว่าร้านค้าไม่มีเวลาทำอย่างอื่นนอกจากขายของ เช่น ไม่มีเวลาบริการจัดการสต๊อค TP จึงเข้าไปช่วยวางแผนสต๊อก จนได้รับความไว้วางใจและยินดีจะใช้บริการของ TP เท่านั้น จะเห็นว่าการมองให้ออกว่าปัญหาสำคัญของลูกค้าคืออะไรและช่วยจัดการปัญหานั้นได้ ทำให้ได้เห็นจุดแข็งที่สามารถนำมาปรับปรุงบริการ ซึ่งจะกลายเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันเชิงธุรกิจต่อไป เป็นต้น
- การสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมกับการสร้างรายได้ ไม่ใช่สิ่งที่ตรงข้ามกัน ไม่ใช่ว่าถ้าได้อย่างหนึ่งมาก อีกอย่างหนึ่งจะได้น้อย แต่เป็นสิ่งที่ส่งเสริมกันได้
หวังว่าพี่น้องพื้นที่เรียนรู้ของเราพอจะเห็นภาพว่า การทดสอบต้นแบบนั้น คือการเรียนรู้ ที่เราต้องให้ความสำคัญและให้เวลาในการเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้แต่ละทีมจะได้คำตอบเป็นของตัวเองว่า ... จะไปต่อยังไงดี
Update of the Month:
เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโปรแกรม Learning Space Incubation
Team Visit ณ LALAPOR จังหวัดตาก
เมื่อวันที่ 14-15 ตุลาคมที่ผ่านมา ทีม School of Changemakers ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมและเก็บภาพบรรยากาศการทดสอบตัวต้นแบบกิจกรรมเป็นครั้งแรกของทีม LALAPOR ในพื้นที่ตำบลแม่อุสุ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก
ทีม LALAPOR จัดกิจกรรมกับเยาวชนระดับประถมศึกษา โดยมีเป้าหมายให้เยาวชนได้เข้าใจถึงรากเหง้าของตนเองผ่านภูมิปัญญาการทอผ้าและการย้อมผ้าฝ้ายสีธรรมชาติ เพื่อนำไปสู่การเกิดพื้นที่เรียนรู้เรื่องภูมิปัญญาการทอผ้าและการสืบถอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นต่อๆ ไป