LSI Sharing of September ข่าวสารและเรื่องราวน่าสนใจประจำเดือนกันยายน

LSI Sharing of September ข่าวสารและเรื่องราวน่าสนใจประจำเดือนกันยายน

Highlight of the Month:

เรื่องราวน่าประทับใจจากโปรแกรม Learning Space Incubation

Prototype Testing Learning Space ทดสอบไอเดียหรือต้นแบบพื้นที่เรียนรู้เพื่อการขยายผล

image

เมื่อวันเสาร์ที่ 16 กันยายน เวลา 10.30-16.25 น. ณ ศูนย์การเรียนรู้อเนกประสงค์ อุทยานการเรียนรู้ TK Park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

School of Changemakers ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ TK Park จัดงาน Prototype Testing Learning Space เปิดพื้นที่ให้ทีมพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ฯ จำนวน 17 ทีมในโครงการบ่มเพาะพื้นที่เรียนรู้ฯ Learning Space Incubation ได้นำไอเดียหรือต้นแบบพื้นที่เรียนรู้ของตนเองมาทดสอบในงาน โดยมีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจ คุณครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่สนใจ มาร่วมให้ความคิดเห็นและมุมมองต่อไอเดียใหม่ๆ ในการสร้างและเพิ่มจำนวนพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนในประเทศไทย

image
image

กิจกรรมแบ่งออกเป็น 2 รอบ รอบที่ 1 เวลา 10.30-14.00 น. ประกอบด้วย 9 ทีม และรอบที่ 2 เวลา 13.00-16.25 น. ประกอบด้วย 8 ทีม

รอบที่ 1
ไอเดีย/ต้นแบบ
รอบที่ 2
ไอเดีย/ต้นแบบ
1. ทีมโฮมฮัก เชียงของ
ชุดกิจกรรมโฮมฮักโฮมรูม เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูประจำชั้นและนักเรียนระดับมัธยมศึกษา
1. บ้านไร่อุทัยยิ้ม (สถาบันพัฒนาเยาวชนและชุมชนเพื่ออนาคต)
โมเดลชุมชนเขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและมรดกภูมิปัญญาทางวัตนธรรม เพื่อการพึ่งพาตัวเองได้
2. มูลนิธิไทยอาทร
โมเดลการดูแลเด็กในชุมชนให้มีพัฒนาการสมวัย
2. Feel trip
ไอเดียการขยายผล วิธีสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการสร้างพื้นที่เรียนรู้ผ่านบอร์ดเกม
3. ฟาร์มผาสุข
โปรแกรมการเรียนรู้พัฒนาสมองส่วนหน้าจากภูมิปัญญาชุมชน สำหรับคุณครูระดับป.4-6
3. ธรรมมือสตูดิโอ
ชุดกิจกรรมปั้นดินสร้างสรรค์สำหรับเด็กประถมศึกษา
4. ศูนย์การเรียนรู้ด้วยรัก
ชุดกิจกรรมกระบวนการละครในการพัฒนาทักษะการสื่อสารพื้นฐานสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
4. Space เล่าเต้งมุมบายใจ
หลักสูตรการทำพื้นที่เรียนรู้บนเกาะ สร้างการเรียนรู้ด้วยการเล่นและเรียนรู้ธรรมชาติ เพื่อสร้างเสริมจินตนาการและทักษะสังคม และการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา
5. ชมรมอาสาสมัครสร้างสุข
ไอเดียกิจกรรมสำหรับเด็กวัยรุ่น ให้ได้สำรวจและทบทวนตัวเอง รู้ว่าเรื่องของตัวเองสามารถเป็นกำลังใจและแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้ และให้รู้ว่าเรามีทางเลือกที่จะมีความสุขได้
5. พลังโจ๋
หลักสูตรการพัฒนาแกนนำสภาเด็กและเยาวชนให้สามารถออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่เสริมสร้าง self-esteem
6. ไร่ลุงรัง
ชุดเครื่องมือสำหรับการเล่นกับธรรมชาติของเด็กปฐมวัย
6. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโซงเลง
โมเดลการดูแลเด็กในชุมชนให้มีความสุขและมีพัฒนาการสมวัย
7. มูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม (SIY Foundation)
เครื่องมือ Solu-Craft สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานกับเยาวชนใน อบต. และเทศบาล ได้สนับสนุนให้เยาวชนในสภาเด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมในการคิดและพัฒนาโครงการเพื่อแก้ปัญหาชุมชนที่มีความแปลกใหม่และตอบโจทย์ตัวคนทำและสังคม
7. Little Wonders
ไอเดียการสร้างมุมเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย และจินตนาการให้เหมาะกับ commercial space
8. พื้นที่พัฒนาศักยภาพการเล่นอิสระเพื่อเด็กและครอบครัวบ้านเรียนฟักทอง
โมเดล เล่นเปื้อนยิ้ม ที่ชุมชนส่งเสริมการเล่นอิสระเพื่อเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้อย่างมีความสุขของเด็ก
8. กลุ่มใบไม้
การให้บริการในด้านต่างๆ ที่เหมาะสมกับแนวทางธุรกิจของบริษัทและสอดคล้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น บริการจัด Team Building และกิจกรรมสิ่งแวดล้อม งานการผลิตสื่อด้านสิ่งแวดล้อม บริการงาน CSR สายอนุรักษ์ธรรมชาติ
9. ที่หลบฝน
โมเดลพัฒนาทักษะการตระหนักรู้ในตนเองและความมั่นคงทางจิตใจผ่านกระบวนการเรียนรู้จากการทำงานจริง (on-the-job learning) ของเด็กมัธยมศึกษาตอนปลาย

ในแต่ละรอบกิจกรรม มีกำหนดการ ดังนี้

  • 15 นาที กล่าวต้อนรับเปิดงาน วัตถุประสงค์ของกิจกรรม
  • 15 นาที แนะนำไอเดียของทีมพัฒนาพื้นที่เรียนรู้กลุ่ม A จำนวน 9 ทีม
  • 30 นาที ผู้เข้าร่วมลงกลุ่มทดสอบรอบที่ 1 (ทีมเล่าไอเดีย ทดลองไอเดีย และฟังคำแนะนำจากผู้สนับสนุน รอบที่ 1)
  • 10 นาที ผู้เข้าร่วมเปลี่ยนกลุ่ม
  • 30 นาที ผู้เข้าร่วมลงกลุ่มทดสอบรอบที่ 2 (ทีมเล่าไอเดีย ทดลองไอเดีย และฟังคำแนะนำจากผู้สนับสนุน รอบที่ 2)
  • 30 นาที กิจกรรมสร้างเครือข่าย (Networking) เพื่อสนับสนุนทีมพัฒนาพื้นที่เรียนรู้
image
image
image
image

ตลอดระยะเวลากิจกรรม มีผู้เข้าร่วมทดสอบกว่า 84 คนที่มาช่วยสนับสนุนทีมพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ฯ ทั้ง 17 ทีม ผ่านการให้คำแนะนำและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น เพื่อให้ทีมฯ สามารถนำฟีดแบ็กเหล่านี้กลับไปพัฒนาไอเดียหรือต้นแบบพื้นที่เรียนรู้เพื่อการขยายผลของตนเองได้ดียิ่งขึ้น

Lessons Learned from Prototype Testing Learning Space ถอดบทเรียนจากวันงาน

หลังจากกิจกรรม Prototype Testing Learning Space ทดสอบไอเดียหรือต้นแบบการขยายผลพื้นที่เรียนรู้ ได้จบลง ทั้ง 17 ทีมพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ฯ ที่นำไอเดียหรือต้นแบบไปร่วมทดสอบก็ได้กลับมาทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น ทุกๆ ความคิดเห็นและฟีดแบ็กที่ได้รับจากผู้เข้าร่วมทดสอบ นำมาถอดบทเรียน เพื่อให้เห็นสิ่งที่ทีมได้เรียนรู้จากการไปเข้าร่วมกิจกรรม

ในบทความนี้ เราได้เลือกบทเรียนและสิ่งที่ได้เรียนรู้ของทีมในโครงการบ่มเพาะพื้นที่เรียนรู้ฯ Learning Space Incubation บางส่วนที่เรายังไม่เคยนำมาแนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จัก มาบอกเล่าให้ทุกๆ คนได้อ่านไปด้วยกัน

ทีม Space เล่าเต้งมุมบายใจ

image

พื้นที่เล่นและเรียนรู้ธรรมชาติของเด็กๆ หนึ่งเดียวบนเกาะทุ่งนางดำ จังหวัดพังงา จากการทำงานสร้างการเรียนรู้ที่ผ่านมาปีกว่า ทุกวันนี้เด็กแทบทุกคนบนเกาะเป็นขาประจำของพื้นที่นี้ โดยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ เด็กๆ รู้จักและเห็นคุณค่าของรากเหง้าตนเองเป็นอย่างดี มีความฝันและจิตใจที่มั่นคงภายใน ทำให้พื้นที่นี้กำลังเตรียมความพร้อมขยายงานสร้างพื้นที่เรียนรู้ประจำเกาะไปยังเกาะอื่นๆ ในประเทศไทย

ทีมมูลนิธิไทยอาทร

image

มูลนิธิไทยอาทร พบปัญหาพัฒนาการเด็กไม่สมวัยในชุมชน จึงเริ่มต้นทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนผ่านกลไกการปกครองส่วนท้องถิ่น ต.นาหนองทุ่ม จ.ขอนแก่น ทั้งอบต. รพสต. และคนในชุมชนและสร้างระบบการดูแลเด็กร่วมกันจนสำเร็จ จึงมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเป็นศูนย์บริการถ่ายทอดองค์ความรู้ระบบการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยและครอบครัว อย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนให้กับตำบลอื่นๆ

ทีมโฮมฮัก เชียงของ

image

กิจกรรมนอกห้องเรียน ที่เกิดจากกลุ่มครูโรงเรียนเชียงของวิทยาคม จ.เชียงราย ที่มุ่งสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็ก ผู้ปกครอง และครู โดยฝึกทักษะการฟัง การทำกิจกรรมร่วมกัน และฝึกความเข้าอกเข้าใจกัน ผ่านกระบวนการจิตวิทยาเชิงบวก

ทีม Feel Trip

image

Feel trip (Action Project) เป็นการรวมตัวกันของเยาวชนจาก 3 ชุมชนที่สามารถสร้างพื้นที่เรียนรู้ในชุมชนของตนเองได้ โดยทั้ง 3 ใช้ทักษะสำคัญเดียวกัน คือ ‘วิธีสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดพื้นที่กิจกรรมให้เด็กได้เข้ามาเรียนรู้ตามความสนใจโดยมีผู้ใหญ่ช่วยสนับสนุน ในปีนี้พวกเขาอยากส่งต่อทักษะนี้โดยกำลังทดสอบไอเดียการขยายผลในรูปแบบบอร์ดเกม

พื้นที่เรียนรู้ฯ แต่ละที่ได้นำฟีดแบ็กและบทเรียนที่ได้รับจากงาน Prototype Testing Learning Space ไปปรับใช้ในการพัฒนาไอเดียหรือต้นแบบพื้นที่เรียนรู้ฯ ของตัวเองต่อไปให้ดียิ่งขึ้น และขั้นตอนต่อไปคือ การทดสอบไอเดียหรือต้นแบบซ้ำกับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ เพื่อให้ได้รับฟีดแบ็กและบทเรียนที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

Knowledge Sharing of the Month:

ข้อมูลความรู้ที่น่าสนใจและมีประโยชน์สำหรับการสร้างพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน

อยากเริ่ม ‘วัดผลกระทบทางสังคม’ ต้องทำอย่างไร?

image

คนที่ทำโครงการเพื่อสังคมทุกคนล้วนต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคม เมื่อเรามีโมเดลการทำงานที่ลงตัวหรือพร้อมขยายผลแล้ว คำถามสำคัญต่อการพัฒนางานและการขยายผลโครงการ ก็คือ เราจะทราบได้อย่างไรว่าโครงการของเราสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ตามเป้าหมายจริงๆ รวมถึงเราจะสื่อสารอย่างไรให้ผู้สนับสนุนหรือแหล่งทุนมั่นใจและเห็นคุณค่าโครงการของเราได้

ขณะนี้ ทีมผู้สร้างพื้นที่เรียนรู้หลายๆ ทีมในโปรแกรมบ่มเพาะพื้นที่เรียนรู้ กำลังอยู่ในกระบวนการของการตอบคำถามสำคัญนี้ ช่วงเดือนที่ผ่านมาโปรแกรมบ่มเพาะพื้นที่เรียนรู้จึงวาง journey ให้พี่ๆ น้องๆ Pre-scale และ Scale  ได้เรียนรู้เกี่ยวกับ “การวัดผลกระทบทางสังคม” (SIA - Social Impact Assessment) อย่างเข้มข้น ทั้งการวางแผนและระบุผลลัพธ์ทางสังคมด้วยการทำ Worksheet SIA และยังมีการจัด Workshop เรื่อง “การเลือกตัวชี้วัดผลกระทบทางสังคม” ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดขั้นตอนหนึ่งในการวัดผลกระทบทางสังคมอีกด้วย บทความนี้จึงเป็นการนำประเด็นที่น่าสนใจจาก workshop มาเล่าให้ฟัง

อ่านความหมาย ประโยชน์ และความสำคัญของการวัดผลกระทบทางสังคมได้ที่ http://bit.ly/40avHss

ศัตรูใกล้ตัว (Near enemy) ที่คนทำงานเพื่อสังคมควรระวัง

การทำงานภาคสังคม สุดทางด้านหนึ่ง คือ สามารถแก้ปัญหาสังคมได้ แก้ pain ให้กลุ่มเป้าหมายได้ และอีกสุดทางคือ แก้ปัญหาไม่ได้เลย ทั้งนี้หลายโครงการ ติดอยู่ตรงกลางๆ คือ อาจจะไม่ได้แก้ปัญหา แต่ก็ดีสำหรับกลุ่มเป้าหมาย

คนที่ทำงานเพื่อสังคม ไม่ว่าจะแก้ปัญหาได้หรือยังแก้ไม่ได้ก็ตาม จึงมักจะมีความคิดว่า เราทำดี ทำเพื่อชุมชน มั่นใจว่ายังไงก็เกิดผลดี ทำให้มีแนวโน้มที่จะมีมุมมองต่อการวัดผลหรือประเมินว่าเป็นการตรวจสอบและตัดสิน และนี่คือ ศัตรูใกล้ตัว (ศัตรูที่เราไม่ตระหนักและมองไม่เห็นว่าเป็นอันตราย) ของคนทำงานเพื่อสังคม นั่นคือ ความคิดที่ว่า “งานเราดีแล้ว” แต่บอกไม่ได้ว่าดียังไง สร้างผลกระทบแค่ไหน และไม่เห็นความสำคัญของการวัดผลกระทบทางสังคม

ถ้าเราติดกับดักกับความคิดนี้ โอกาสที่เราจะสร้างความร่วมมือกับกลุ่มคนหรือองค์กรอื่นๆ เพื่อการขยายผล ก็จะจำกัดลงเรื่อยๆ เพราะจะมีไม่กี่องค์กรที่รู้จักเรา เข้าใจเรา และเชื่อใจเราว่าเราทำดี โดยไม่ตั้งคำถามว่าดีอย่างไร โดยทั่วไปปัจจัยหลักในการตัดสินใจร่วมมือก็คือ การได้เห็นผลลัพธ์ทางสังคมที่เป็นรูปธรรมชัดเจน มีความโปร่งใส จากกระบวนการวัดผลที่เป็นเหตุเป็นผลและเชื่อถือได้ ดังนั้นเราจึงไม่ควรหยุดอยู่ที่ “เราทำดีแล้ว ไม่ต้องวัดก็ได้”

เมื่อไหร่ที่เราจะต้องวัดผลกระทบทางสังคม

เราจะวัดผลกระทบทางสังคมเมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับว่าโครงการของเราอยู่ในระยะไหน

• ระยะเริ่มโครงการ อยู่ในขั้นตอนเก็บข้อมูลทำความเข้าใจปัญหา เพิ่งมีไอเดีย โครงการที่อยู่ในระยะนี้ ยังไม่ต้องวัด

• ระยะที่มีต้นแบบ ได้ทดสอบต้นแบบ และได้เริ่มลงทำไปแล้ว สามารถเริ่มวัดผลกระทบได้ เพื่อเป็นการทบทวนเป้าหมาย พัฒนาการทำงาน และบอกเล่าสิ่งที่เราทำ ให้เป็นที่เข้าใจต่อสาธารณะ

• ระยะขยายผล จะเป็นระยะที่มักจะมีการวัดผลกระทบอย่างจริงจัง เนื่องจากการวัดผลกระทบทางสังคมนั้นใช้เวลาและการลงทุนสูง ส่วนใหญ่แหล่งทุนจะช่วยสนับสนุนกระบวนการวัด เพื่อที่จะเอาผลลัพธ์ไปประกอบเอกสารสำหรับสื่อสารกับนักลงทุน

การสื่อสารผลกระทบทางสังคม

ผลกระทบทางสังคม เป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่จะสามารถสื่อสารให้สาธารณะเข้าใจและเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ อันจะนำมาซึ่งความร่วมมือในการสร้างผลกระทบ ให้เป็นประโยชน์กับสังคมในวงกว้างได้มากขึ้น ดังนั้นการนำข้อมูลการวัดผลมาสื่อสารนั้นก็สำคัญเช่นกัน แต่จะสื่อสารในรูปแบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสื่อสารกับใคร เพื่อวัตถุประสงค์อะไร โดยทั่วไปการสื่อสารผลกระทบทางสังคม อาจแบ่งเป็น 3 รูปแบบ

• เล่าภาพรวมทั่วๆ ไป  - บอกว่า ปัญหาคืออะไร วิธีแก้เป็นอย่างไร ผลกระทบทางสังคม คืออะไร

• เล่าแบบเฉพาะเจาะจง - เปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างของผลลัพธ์ต่อกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการและผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ

• เล่าเป็น Human Story - เล่าถึงตัวบุคคลที่เข้าโครงการ เทียบให้เห็นว่าก่อนเข้าร่วมโครงการเป็นอย่างไร และหลังเข้าร่วมโครงการเป็นอย่างไร

การมีโจทย์ที่ชัดเจน คือ กระดุมเม็ดแรกที่ต้องกลัดให้ถูก

Innova School ตัวอย่างของการตั้งโจทย์ที่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้เราชัดเจนว่าเราจะสร้างผลกระทบทางสังคมอย่างไร เพื่อจะได้ออกแบบกิจกรรมหรือกระบวนการแก้ปัญหา และการวัดผลที่มีความสอดคล้องกับเป้าหมายได้

image

Innova School เป็นโรงเรียนที่ก่อตั้งโดย Yzusqui Chessman และ Carlos Rodriguez-Pastor ซึ่งมองเห็นปัญหา การเข้าไม่ถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ของครอบครัวชนชั้นกลางระดับล่าง ในประเทศเปรู

เขาตั้งเป้าหมายว่า จะเปลี่ยนระบบการศึกษาในประเทศเปรู โดยการสร้างโรงเรียนเอกชน ที่มีคุณภาพสูงและมุ่งพัฒนาความเป็นผู้นำของผู้เรียน โดยโรงเรียนจะต้องมีกำไร และขยายผลได้ นอกจากนี้พวกเขายังตั้งเปืที่จะขยายให้ได้ 200 โรงเรียน ในเปรูและประเทศอื่นๆ โดยกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ครอบครัวชนชั้นกลางระดับล่าง ที่มีรายได้ครัวเรือน 1,200 เหรียญสหรัฐ ต่อเดือน และพร้อมที่จะลงทุนเพื่อการศึกษาของลูก 130 เหรียญสหรัฐ ต่อเดือน (ประมาณ 10% ของรายได้)

วิธีแก้ปัญหา: จ้างบริษัท IDEO ให้ออกแบบวิธีแก้ปัญหานี้ ซึ่ง IDEO ได้ศึกษาบริบทของสถานการณ์และได้ข้อมูลเชิงลึกว่า

• ผู้ปกครองกลุ่มเป้าหมาย อยากรู้สึกภูมิใจเวลามาส่งลูกที่โรงเรียน อยากให้โรงเรียนดูดี รู้สึกว่าได้ให้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูก

• การลงทุนก่อสร้างต้องไม่แพง ยืดหยุ่นกับแต่ละพื้นที่

• ครูต้องเป็นครูที่มีคุณภาพ

• ครูงานเยอะ ต้องทำให้ครูมีภาระงานที่สมดุล ไม่มากเกินไป

IDEO จึงออกแบบวิธีการแก้ปัญหาตามโจทย์ดังนี้

• การก่อสร้างอาคารสถานที่ - ใช้ Idea ระบบโมดูล่าของ Lego มาออกอาคารเป็นบล็อกสี่เหลี่ยม โดยจ้างผลิตเป็นบล็อกเดียวกัน เพื่อให้ควบคุมต้นทุนได้ ทำให้โรงเรียนที่อยู่ต่างพื้นที่กัน สามารถเอาไปออกแบบจัดวางต่อๆ กัน และสร้างทางเชื่อม หรือเสริมสิ่งก่อสร้างให้เหมาะสมกับความจำเป็นของแต่ละพื้นที่ได้ แต่ละโรงเรียนจึงมีอาคารโรงเรียนในราคาที่ประหยัด สวยงาม และทำให้ผู้ปกครองภูมิใจเวลามาส่งนักเรียนด้วย

• การออกแบบหลักสูตร – ออกแบบให้การเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพ โดยที่ไม่เพิ่มภาระงานให้ครู โดยแบ่งการเรียนรู้เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ การเรียนในชั้นเรียน และการทำโครงงาน

• การเรียนในชั้นเรียน แบ่งเป็น 2 รูปแบบย่อย คือ - ในแต่ละวัน 5 ชม.แรก เด็กๆ จะเรียนในชั้นเรียนที่มีนักเรียน 30 คน มีครูที่เป็น facilitator 1 คน แล้วให้นักเรียนจับคู่กันเรียนเป็นคู่ (peer-to-peer learning) ช่วยกันเรียน อีก 3 ชม. เป็น Solo time เด็กๆ จะไปอยู่ในชั้นเรียนที่มีนักเรียน 60 คน ที่เรียนด้วยตัวเองกับสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่มีการพิสูจน์แล้วว่าดีมากๆ เช่น Khan Academy เป็นต้น โดยมีครูดูแล 1 คน ซึ่งครูจะไม่ต้องช่วยเหลืออะไรเป็นพิเศษในแง่วิชาเรียน ครูจะดูแลความเรียบร้อยทั่วๆ ไปเท่านั้น การจัดการเรียนการสอนในลักษณะนี้ ทำให้ลดภาระงานครูลงไปได้มาก

• การทำโครงงาน - มี Innovation Program ที่จะพัฒนาทักษะการคิดและการทำงานเป็นทีม โดยใน 1 ปี จะมี 2 สัปดาห์ ที่เด็กนักเรียน ป.3-ม.5 จะทำโครงงานเพื่อสังคมด้วยกัน เด็กๆ จะมีโอกาสได้รู้จักชุมชน ฝึกทักษะการทำงานร่วมกันกับทั้งชุมชนและเพื่อน ได้พัฒนาความเป็นผู้นำ ทำให้เห็นความแตกต่างของนักเรียนแต่ละชั้น ในการแก้ปัญหาสังคมในประเด็นเดียวกัน และเด็กๆ ก็ได้ฝึกทักษะได้ระดับที่แตกต่างกันไปด้วย

• สร้าง Teacher Resource Center – โดยเริ่มต้นจากการเลือกครูจำนวนหนึ่งที่ชอบการเก็บข้อมูล และการทำเครื่องมือการเรียนรู้ มาทำแผนการสอน และผลิตสื่อการสอน แล้วเก็บอย่างเป็นระบบที่Teacher Resource Center เพื่อให้ครูได้ใช้เตรียมการสอน ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 20,000 บทเรียน และยิ่งมีครูที่มีประสบการณ์มากขึ้น ก็จะมีครูที่สร้างและแบ่งปันทักษะและองค์ความรู้ให้เพื่อนครูได้มากขึ้น สิ่งนี้เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับครูที่จบใหม่ หรือยังมีประสบการณ์น้อย ทำให้ครูเหล่านี้สามารถเอาบทเรียนไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้ทันทีถึง 80% และพัฒนาขึ้นมาเองอีกเพียง 20% วิธีการนี้สามารถประหยัดการลงทุนในการฝึกอบรมครู ทำให้ครูเรียนรู้จากเครื่องมือเหล่านี้โดยไม่ต้องเริ่มต้นทุกอย่างใหม่ด้วยตัวเองได้ด้วย

ผลกระทบ

• ก่อนมี Innova School: ผลเฉลี่ยคะแนนของนักเรียนโรงเรียนเอกชนในเปรู วิชาคณิตศาสตร์ได้ 21% และการอ่านออกเขียนได้ 47%

• หลังมี Innova School: ผลเฉลี่ยคะแนนของนักเรียนโรงเรียนเอกชนในเปรู วิชาคณิตศาสตร์ 61% และการอ่านออกเขียนได้ 86

(ข้อมูลเมื่อปี 2020 มีการก่อตั้ง Innova School 63 แห่ง ทั้งในเปรู เม็กซิโก และโคลอมเบีย มีนักเรียนรวมประมาณ 50,000 คน)

ข้อคิดสำหรับการออกแบบตัวชี้วัด – ถอดบทเรียนจากทีมพื้นที่เรียนรู้ที่เข้าร่วม workshop

  • รู้ว่าจะวัดเพื่ออะไร – ถ้าวัดเพื่อพัฒนางาน ตัวชี้วัดประเภทความพึงพอใจ จำนวนผู้เข้าร่วม หรือ ความถี่ในการเข้าร่วมกิจกรรม อาจใช้วัดได้ แต่ถ้าวัดผลกระทบทางสังคม ตัวชี้วัดเหล่านี้อาจจะไม่เพียงพอที่จะสะท้อนผลลัพธ์ตามเป้าหมาย
  • ตั้งเป้าหมายอย่างไร วัดอย่างนั้น เช่น กรณีโครงการที่มีเป้าหมายในการฝึกให้เยาวชนมีความเป็นผู้นำ โดยการจัดฝึกอบรม การวัดผล จะต้องมีตัวชี้วัดที่สามารถบอกได้ว่า หลังทำกิจกรรม ผู้เข้าร่วมอบรมมีคุณลักษณะของผู้นำเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร ไม่ใช่วัดจากจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม หรือ หากเป้าหมายของกิจกรรม คือ การสร้างความสามารถในการสร้างการมีส่วนร่วม ก็ต้องวัดที่ความสามารถในการสร้างการมีส่วนร่วม ไม่ใช่วัดการมีส่วนร่วม เป็นต้น
  • สิ่งที่จะวัด ควรแสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่อสังคม เช่น กรณีโครงการตั้งเป้าหมายที่จะบ่มเพาะทักษะการตระหนักรู้ในตัวตน (Self awareness) ให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าใจตัวเอง รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร และสื่อสารความต้องการของตัวเองได้ ในการวัดผลกระทบทางสังคม ไม่ควรวัดว่ากิจกรรมทำให้เด็กมีทักษะการตระหนักรู้ในตัวตนหรือไม่อย่างไรเท่านั้น แต่ควรมีตัวชี้วัดที่แสดงให้เห็นด้วยว่าเมื่อเด็กมีทักษะนี้แล้ว เกิดผลกระทบทางสังคมอย่างไรประกอบด้วย เช่น เมื่อเด็กมีทักษะตระหนักรู้ในตัวตนแล้ว เคสภาวะซึมเศร้าในเด็กกลุ่มนี้ลดลง เป็นต้น
  • ออกแบบตัวชี้วัดโดยระบุให้ชัดเป็นสถานการณ์หรือพฤติกรรมที่เห็นเป็นรูปธรรม มีความเฉพาะเจาะจง วัดได้ เช่น ตัวชี้วัดที่จะบอกได้ว่า เมื่อทำกิจกรรมแล้ว เด็กและเยาวชนที่ได้รับการฝึกอบรมมีความสามารถดำเนินกิจกรรมในชุมชนเองได้ ควรขยายความให้ชัดขึ้นยิ่งขึ้นว่า เด็กๆ จะมีพฤติกรรมอย่างไร ที่แสดงว่ามีความสามารถตามเป้าหมายนั้น เช่น หาทุนเองได้ ริเริ่ม วางแผน ทำตามแผนได้ด้วยตัวเอง เป็นต้น
  • วางแผนวิธีการเก็บหลักฐานให้ได้ผลการวัดตามเป้า เช่น กรณีโครงการที่มีเป้าหมาย ในการทำให้เยาวชนใช้เวลาหน้าจอน้อยลง ด้วยการสนับสนุนให้ทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น งานสวน งานครัวที่บ้าน ตัวชี้วัดคือ การเพิ่มขึ้นของจำนวนชั่วโมงเฉลี่ยต่อวันที่เด็กไม่ได้อยู่กับมือถือ โดยจัดให้มีตารางติดดาวที่ระบุชัดเจนว่างานบ้านอะไร ระยะเวลาเท่าไหร่ มีค่า = 1 ดาว ข้อมูลนี้จะทำให้รู้ว่ากิจกรรมนี้ทำให้เด็กออกจากมือถือได้เฉลี่ยวันละกี่ชั่วโมง หรือกรณีโครงการที่มีเป้าหมายในการสร้างทักษะบางอย่างให้เยาวชน ด้วยชุดเครื่องมือที่ขายให้กลุ่มเป้าหมายนำกลับไปใช้เอง ควรออกแบบวิธีการวัดผล เช่น คำถามก่อน-หลังเล่น แนบไปกับชุดเครื่องมือที่ขายเลย เนื่องจากอาจจะไม่มีโอกาสตามไปวัดผลภายหลัง
  • การเก็บหลักฐานเพื่อวัดผลอาจทำได้ 2 แนวทาง คือ
    • จัดให้มีการเก็บข้อมูลหลักฐานในกระบวนการทำกิจกรรม เช่น การทำกิจกรรมโฮมรูมเพื่อสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างครูกับนักเรียน ผู้จัดกิจกรรมต้องการวัดว่ากิจกรรมทำให้เกิดความสัมพันธ์เชิงบวกตามเป้าหมายหรือไม่ อย่างไร ในการดำเนินกิจกรรมอาจชวนนักเรียนช่วยกันคิดว่า เมื่อความสัมพันธ์ดีจะเกิดพฤติกรรมอะไรขึ้นบ้าง และเมื่อความสัมพันธ์ไม่ดีจะเกิดพฤติกรรมอะไรบ้าง โดยหลังจัดกิจกรรมโฮมรูม ให้นักเรียนประเมินว่ามีพฤติกรรมบวกหรือลบเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง แล้วเอาผลการประเมินโดยเฉพาะด้านลบ มาทำกิจกรรมต่อๆ ไป สิ่งนี้จะเป็นการเก็บผลลัพธ์ไปในตัวว่ากิจกรรมโฮมรูมส่งผลกระทบให้เกิดพฤติกรรมที่สะท้อนความสัมพันธ์เชิงบวกได้หรือไม่ อย่างไร และสามารถใช้ข้อมูลเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมครั้งต่อๆ ไป ให้สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ในขณะนั้นมากขึ้นด้วย นอกจากนี้วิธีการนี้ยังไม่เป็นการเพิ่มภาระงานให้ครูซึ่งมีงานมากอยู่แล้วด้วย
    • เก็บหลักฐานแยกจากกิจกรรม เช่น การให้กลุ่มเป้าหมายทำ pre test และ post test เป็นต้น
    • หมายเหตุ

      ศึกษาการวัดผลกระทบทางสังคมอย่างละเอียดได้จาก คู่มือการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมและผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน ฉบับปรับปรุง 2560 โดยป่าสาละ  https://issuu.com/salforest/docs/sia-sroi-v2

Update of the Month:

เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโปรแกรม Learning Space Incubation

Team Visit ณ บ้านไร่อุทัยยิ้ม อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี

อาหารพื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยง
อาหารพื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยง
ผ้าทอลายโบราณของชาวลาว
ผ้าทอลายโบราณของชาวลาว

เมื่อวันพุธที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา ทีม School of Changemakers ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมการทำงานของ ‘บ้านไร่อุทัยยิ้ม’ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่เรียนรู้ในโครงการบ่มเพาะฯ Learning Space Incubation ของเรา

‘บ้านไร่อุทัยยิ้ม’ เป็นพื้นที่เรียนรู้ 3 จังหวัดริมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี เกิดจากลุงเบ้กับป้าโก้ ที่สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม และวิถีวัฒนธรรมของผู้คนชนเผ่า (ลาว ขมุ กะเหรี่ยง) ที่อาศัยอยู่รอบเขตอนุรักษ์ ด้วยการใช้กิจกรรมการเรียนรู้พัฒนาเด็ก อายุ 15-25ปี ในพื้นที่ให้ตระหนักถึงคุณค่าของความหลากหลายของทรัพยากรและภูมิปัญญา วิถีในท้องถิ่น เพื่อให้เยาวชนสามารถเปลี่ยนคุณค่านี้ให้เป็นมูลค่าเพื่อเป็นฐานรากของชุมชนที่จัดการตนเองได้

บ้านป้าจำปี พื้นที่เรียนรู้การทอลายลาวโบราณ
บ้านป้าจำปี พื้นที่เรียนรู้การทอลายลาวโบราณ
ครัวกะเหรี่ยงเชอยิเก่อ พื้นที่เรียนรู้การทำอาหารพื้นบ้านกะเหรี่ยง
ครัวกะเหรี่ยงเชอยิเก่อ พื้นที่เรียนรู้การทำอาหารพื้นบ้านกะเหรี่ยง

อ่านบทความอื่นๆ

สถานการณ์ปัญหา : สุขภาพจิตวัยรุ่น
สถานการณ์ปัญหา : ขยะในประเทศไทย
สถานการณ์ปัญหา : การกลั่นแกล้งกันของเด็กและเยาวชน (Bullying)
Theory of Change ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง
นวัตกรรม คือ อะไร?
Prototype : วิธีแปลงไอเดียให้เป็นรูปเป็นร่างแบบติดจรวด
Effective Communicating การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
Active Listening การฟังเชิงรุก
Assumption Mapping เลือกสมมติฐาน หาจุดตั้งต้นการทดสอบ
Dream it Do it!!! เมื่อเราเห็นปัญหาสังคมแล้วอยากลุกขึ้นมาเริ่มลงมือทำ
Impact Value Chain (IVC) เครื่องมือช่วยมองภาพรวมการแก้ปัญหา
How Might We คืออะไรและเขียนอย่างไร
What is Insight? ข้อมูลเชิงลึกของปัญหาคืออะไร และสำคัญอย่างไร?
สถานการณ์ปัญหา : รัฐสวัสดิการกับการแก้ปัญหาสังคม ตอนที่ 2
สถานการณ์ปัญหา : รัฐสวัสดิการกับการแก้ปัญหาสังคม ตอนที่ 1
สถานการณ์ปัญหา : เด็กออกกลางคัน
สถานการณ์ปัญหา : เด็กไม่เรียนต่อ
สถานการณ์ปัญหา : เด็กไม่ได้เข้าเรียน
เริ่มต้นออกแบบตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลกระทบทางสังคม
ทำความรู้จักการวัดผลกระทบทางสังคม SIA
มองรอบด้านเพื่อวิเคราะห์โอกาสและความเสี่ยง (Oppotunity&Threat)
สถานการณ์ปัญหา : ภาวะมลพิษทางอากาศ (Air Pollution) ตอนที่ 2
สถานการณ์ปัญหา : ภาวะมลพิษทางอากาศ (Air Pollution) ตอนที่ 1
Insight : Mental Health at Work ปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงาน