Penguin Village เป็นโครงการที่สนับสนุนนักเปลี่ยนแปลงที่สนใจแก้ปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษา เปิดรับนักเปลี่ยนแปลง 3 track คือ Scale Start และ System โดยมีระบบสนับสนุนในรูปแบบที่ปรึกษา (Consult) ที่ปรึกษาเฉพาะทาง (Helpdesk) และเงินทุนสนับสนุน (Grant) โครงการมีระยะเวลาทั้งหมด 9 เดือน ตั้งแต่ ตุลาคม 2563 – มิถุนายน 2564
Penguin Village คือ?
Penguin Village เป็นโครงการที่มุ่งสร้างระบบสนับสนุนนักเปลี่ยนแปลง (Changemakers) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการริเริ่มโครงการที่เน้นไอเดียใหม่ๆ เพื่อมุ่งสร้างนวัตกรรมทางสังคม เราพบว่าประเทศไทยยังขาดการสนับสนุนในลักษณะ Incubator หรือการบ่มเพาะตั้งแต่สนับสนุนให้พัฒนาแรงบันดาลใจหรือ ไอเดียมาทดลองเป็นโครงการหรือกิจการต้นแบบ หรือโปรแกรมบ่มเพาะที่มีอยู่อาจยังไม่ได้พัฒนาการสนับสนุนนอกเหนือจากการให้ทุน หรืออาจขาดการวางระบบส่งต่อ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทําให้ประเทศไทยขาดนวัตกรรมสังคม และโครงการดีๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศไม่มีโอกาสเติบโตและสร้างผลกระทบทางสังคมถึงการแก้ปัญหา หรือกระทบการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้าง และจากวัตถุประสงค์การทำงานของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่มุ่งการทํางานช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู ในการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาของกลุ่มเด็กที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาให้มากขึ้น จึงร่วมมือกับ School of Changemakers ในการสร้างระบบบ่มเพาะนวัตกรรมทางสังคมเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
ทำไมต้องแก้ไขปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษา?
Penguin Village เป็นโครงการหนึ่งในความร่วมมือดังกล่าวเพื่อเป็นระบบบ่มเพาะที่สนับสนุนนักเปลี่ยนแปลงที่สนใจหรือกำลังดำเนินงานในประเด็นปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษา จากการที่ SOC ได้ศึกษาข้อมูลปัญหาเชิงลึก (Problem Insight) พบว่าสถานการณ์ปัญหาแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ สถานการณ์ปัญหาเด็กไม่ได้เข้าเรียน สถานการณ์เด็กออกกลางคัน และสถานการณ์ปัญหาเด็กไม่เรียนต่อ โดยปัญหาเหล่านี้สร้างผลกระทบอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศ ประชากรไทยอายุ 15-59 ปี (กลุ่มกำลังแรงงาน) มีปีการศึกษาเฉลี่ย เท่ากับ 9.57 ปี หรือเทียบเท่าชั้นม.1 เท่านั้น สะท้อนถึงคุณภาพแรงงานที่ไม่มีความรู้เชิงลึก ไม่มีทักษะเฉพาะ ประกอบอาชีพที่ให้รายได้ต่ำ ถูกแทนที่ได้ง่าย ยากที่จะเพิ่มทักษะเฉพาะหรือเติบโตในเส้นทางการทำงาน (Career Path) และด้วยรายได้ที่น้อยกว่าจะอยู่ในฐานภาษี ประเทศไทยจึงมีสัดส่วนผู้เสียภาษีน้อย เมื่อเทียบกับผู้ได้รับผลประโยชน์จากเงินภาษี จึงไม่มีงบประมาณมากพอที่จะใช้พัฒนาประเทศให้ทัดเทียมและเท่าทันการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลง คนหนุ่มสาว (อายุ 25-30 ปี) ที่มีการศึกษาระดับอนุปริญญาหรืออุดมศึกษาจะสามารถมีรายได้มากกว่าคนรุ่นเดียวกันที่มีการศึกษาระดับประถมถึง 2 เท่า และเมื่อถึงวัยก่อนเกษียณ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ก็จะถ่างกว้างออกไปเป็นกว่า 5 เท่า กลุ่มประชากรรายได้ต่ำ 40% ล่างสุดไม่มีการขยับขึ้นทางสังคมมานานกว่า 4 รุ่นแล้ว ในระดับประเทศ คุณภาพแรงงานไทยต่ำกว่ามาเลเซียถึง 3 เท่า เหตุนี้ทำให้ประเทศไทยสูญเสียเงิน 3 แสนกว่าล้านบาทต่อปี คิดเป็น 3% ของ GDP
เหมาะกับใคร?
Penguin Village นักเปลี่ยนแปลงที่มีความสนใจและมุ่งมั่นที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในขอบข่ายประเด็นปัญหาดังกล่าวโดยนักสร้างความเปลี่ยนแปลงต้องมีคุณสมบัติตรงตาม 1 ใน 3 กลุ่มนี้
Start
- ทีมที่สนใจและเข้าใจในประเด็นปัญหาเด็กนอกระบบ
- มีช่องทางหรือความสามารถในการเข้าถึงหรือทำงานกับกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโดยตรงได้
- สนใจและพร้อมเรียนรู้การแก้ไขปัญหาในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม
- มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กนอกระบบในรูปแบบโมเดลกิจการเพื่อสังคม
Scale
- ทีมทำงานและมีความเข้าใจในประเด็นปัญหาเด็กนอกระบบเป็นอย่างดี
- สามารถเข้าถึงหรือทำงานกับกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโดยตรงได้
- สนใจและพร้อมเรียนรู้การแก้ไขปัญหาในรูปแบบโมเดลกิจการเพื่อสังคม
System
- ทีมที่มีหรือสนใจสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคมที่จะเป็นระบบสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเด็กนอกระบบในระดับโครงสร้างต่อไปได้
*รับสมัครเป็นทีม จำนวน 10 ทีม (หากสมัครคนเดียว ต้องแน่ใจว่าจะสามารถหาสมาชิกเพิ่มได้)
**มีเวลาทำโปรเจกต์อย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ (16 ชั่วโมง)
เมื่อเข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนการพัฒนาโมเดลกิจการเพื่อสังคมอย่างไรบ้าง?
- ระบบที่ปรึกษา (Consult) และที่ปรึกษาเฉพาะทาง (Helpdesk)
- เงินทุนสนับสนุน (Start สูงสุด 50,000 และ Scale& System สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาทต่อทีม)
- การเข้าถึงเครือข่ายนักเปลี่ยนแปลงรุ่นพี่ที่จะมาช่วยกันสร้างผลกระทบที่ดีทางสังคมร่วมกัน ตลอดระยะเวลาโครงการ 8 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – มิถุนายน 2564
โครงการมีระยะเวลา 9 เดือน แบ่งเป็น 2 phase
Phase 1 เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2563 เป็นระยะเวลาในการระบุปัญหา วางแผนการดำเนินงานและพัฒนาโมเดลการทำงานพร้อมกับทดลองโมเดลการแก้ไข ปัญหากับตัวอย่างกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาเพื่อประเมินผลลัพธ์ จุดแข็ง จุดอ่อนของโมเดลเพื่อนำกลับมาพัฒนาในเฟสต่อไป
Phase 2 เดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 เป็นระยะเวลาในการพัฒนาโมเดลการทำงานต่อเนื่องโดยจะมีระบบโค้ชสนับสนุนจนจบโครงการ
สมัครอย่างไร?
Download Worksheets และติดต่อเรามาที่ m[email protected]
ภายในวันที่ 25 ตุลาคม 2563
บทความแนะนำ
อะไรคือโมเดล? ทำความเข้าใจโมเดลทางสังคมและธุรกิจ สำหรับโครงการหรือกิจการเพื่อสังคม