ที่มาโครงการ
กลุ่มคลองเตยดีจัง (Musicsharing) เกิดจากกลุ่มอาสาสมัครนักดนตรีที่รวมตัวกัน เริ่มจากการเปิดขอรับบริจาคเครื่องดนตรี และสอนดนตรีให้กับเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาส เช่น เด็กเยาวชนในพื้นที่ชายแดน เด็กชาติพันธ์ เด็กในพื้นที่สลัมอื่นๆ มีพื้นที่ดำเนินการหลักอยู่ที่ชุมชนโรงหมู คลองเตย ใช้กระบวนการดนตรีและศิลปะในการพัฒนาเยาวชน
ได้มีการสอนดนตรีและศิลปะ ทำกิจกรรมในในชุมชนคลองเตยมาต่อเนื่อง ทำให้เห็นเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรม และเด็กๆภายในชุมชน มีปัญหาเรื่องการไปโรงเรียน ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจในครอบครัว แรงจูงใจส่วนตัวของเด็กต่อการไปโรงเรียน สภาพแวดล้อมในโรงเรียนไม่ตอบโจทย์ ไม่สอดคล้อง ไม่สนับสุนนเด็กมากพอ (จากการที่ได้พูดคุยกับเด็ก) เหล่านี้ล้วนมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นภายในโครงสร้างทางการศึกษา และปัญหาจากชุมชนที่ซับซ้อน เชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่ ทำให้เด็กๆได้รับการศึกษาไม่ทั่วถึง มีประสิทธิภาพไม่มากพอ ไม่สอดคล้องกับเด็ก ทำให้เด็กออกจากโรงเรียนกลางคัน ไม่เรียนต่อ และมีความเสี่ยงในการออกจากระบบการศึกษาเพิ่มมากขึ้น
ทางกลุ่มคลองเตยดีจังมีความเชื่อที่ว่า เด็กทุกคนที่เกิดมาบนโลกใบนี้ควรได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน จึงได้เริ่มภารกิจในการจัดทำหลักสูตรเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กในชุมชนคลองเตย และมีแผนจัดตั้งศูนย์การเรียนซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่สามารถออกวุฒิการศึกษาให้เด็กได้ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติมาตรา 12 เพื่อรองรับเด็กที่ออกจากระบบการศึกษา
แนวคิดโครงการ
เด็กที่ทุกคนมีศักยภาพในตัวเองอยู่แล้ว เพียงแค่เราต้องมีการออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กในแต่ละพื้นที่ และความสามารถในการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัย พร้อมกับการมีโค้ช (ครู) เป็นคนให้คำปรึกษา แนะแนวทางในการดำรงชีวิต โดยไม่ตัดสินเด็ก มีความเคารพซึ่งกันและกัน การให้อิสระต่อเด็กพร้อมกับการมีกติกา ขอบเขตในการอยู่ร่วมกัน
เป้าหมายของโครงการ
1.หลักสูตรการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับช่วงวัย พัฒนาทักษะชีวิต (ความคิด อารมณ์ สังคม) และเสริมทักษะและความรู้
2.ครูประจำหลักสูตรที่เข้าใจธรรมชาติของเด็กแต่ละวัย สามารถออกแบบ จัดกระบวนการเรียนการสอน พัฒนาหลักสูตร มีแนวโน้มที่จะสอนอย่างต่อเนื่อง
3.ระบบการรองรับ และการพัฒนาครูในแต่ละระดับ
ปัญหา
เด็กและเยาวชน อยู่ในช่วงวัยของการศึกษาหาความรู้ ในระบบการศึกษาไทย มีเด็กที่อยู่ภายในระบบการศึกษาทั้งระบบของสถานศึกษาของรัฐ เอกชน หรือในรูปแบบศูนย์การเรียน กลุ่มบ้าน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีเด็กและเยาวชนอีกกลุ่มที่ไม่ได้รับการศึกษา หรือต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน จะด้วยปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัว ฯลฯ เด็กกลุ่มนี้อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ มีโอกาสที่จะเลือกทางเดินผิดพลาดเพื่อความอยู่รอดของชีวิต และมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่วงจรของยาเสพติด การขายบริการทางเพศ และอาชญากรรม
ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เด็กเยาวชนในคลองเตยได้รับผลกระทบ เหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา ออกจากระบบการศึกษากลางคัน ใช้ชีวิตอย่างไม่มีจุดหมาย และเข้าสู่วงอโคจรในท้ายที่สุด
ทีมคลองเตยดีจังเห็นว่า จัดตั้งศูนย์การเรียนและการออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ที่เฉพาะและเหมาะสมกับเด็กคลองเตย และการมีครูที่ให้ความรู้และเป็นปรึกษาแนะนำอย่างต่อเนื่อง จะช่วยรองรับเด็กที่ออกจากระบบการศึกษา เข้าสู่การดูแลแนะนำให้เด็กสามารถใช้ชีวิต รับผิดชอบตัวเองได้ในสังคม
วิธีการแก้ไข
1.พัฒนาครู ทำความเข้าใจ สร้างเป้าหมาย workshop ครูเพื่อเป็นโค้ชสำหรับเด็ก ฯลฯ
2.พัฒนาหลักสูตร เครื่องมือและกระบวนการเรียนการสอน ตามแต่ละช่วงวัย พัฒนาทักษะชีวิต พัฒนาทักษะอาขีพ
3.ดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียน เพื่อรองรับเด็กที่ออกนอกระบบการศึกษา
4.ประสานงานสร้างเครือข่ายในการทำงาน ออกแบบระบบสำหรับครูอาสาสมัครภายนอก
ผลกระทบทางสังคม
มีแนวทางหลักสูตรการเรียนการสอนที่เด็กเยาวชนมีทักษะชีวิต สามารถคิดวิเคราะห์ เข้าใจตนเองเข้าใจผู้อื่น จัดการอารมณ์ความรู้สึกของตนเองได้ และเชื่อมโยงและอยู่ร่วมในสังคมได้ เคารพในความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน มีอิสระทางความคิด รักษากติกาการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้สังคมมีแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ยืดหยุ่นเหมาะสมกับเด็กในแต่ละพื้นที่