ที่มาโครงการ
เยาวชนนอกระบบการศึกษาภายใต้การดูแลของศูนย์ฝึกเด็กและอบรมเด็กและเยาวชน ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่กระทำความผิดกรณียาเสพติด หรือกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยาเสพติด ส่วนใหญ่เยาวชนที่ไม่จบการศึกษาภาคบังคับ-มัธยมต้น แต่มีความจำเป็นต้องประกอบอาชีพเนื่องจากปัญหาความยากจน และเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา เมื่อเยาวชนเหล่านี้กระทำความผิด ศาลฯ ตัดสินให้เข้าสู่กระบวนการฝึกอบรมภายใต้การดูแลของศูนย์ฝึกและอบรมฯ ทางศูนย์ฝึกฯ ซึ่งจะมีระบบการดูแลทั้งการหนุนเสริมการเรียนให้จบการศึกษาภาคบังคับ และหนุนเสริมเรื่องการประกอบอาชีพ รวมถึงทักษะชีวิต แต่ทั้งนี้ระบบการดูแลเยาวชนมีข้อจำกัด ทั้งเรื่องปริมาณเยาวชน ปริมาณบุคลากร ความสามารถในการเรียนรู้ของเยาวชน แรงต้านและรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน รวมถึงขาดความใส่ใจในการพัฒนาตนเอง และขาดแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองเพื่อปรับเปลี่ยนตนเอง
จากการทำงานพัฒนาเยาวชนในบริบทศูนย์ฝึกฯ พบว่าศูนย์ฝึกฯ มีภารกิจในการดูแลเยาวชน ต้องการพัฒนาคุณลักษณะภายในเยาวชน และต้องการให้เยาวชนตั้งหมุดหมายการใช้ชีวิต และพบช่องว่าง และโอกาสในการทำงาน ดังนี้
1) เจ้าหน้าที่ต้องการคนช่วยฝึกอบรมและต้องการชุดกิจกรรมอบรมเยาวชน
2) ตัวตนภายในของเยาวชนที่เข้มแข็งคือจุดเริ่มการเปลี่ยนแปลงของเยาวชน
3) การพัฒนาเยาวชนด้วยแนวคิดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงผ่านการสร้างประสบการณ์ตรงจะเป็นวิธีการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน
4) ทีมเจ้าหน้าที่ี่่ที่มีความมั่นคงภายใน เชื่อมั่นในศักยภาพเยาวชน และเชื่อมั่นว่าทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ จะทำให้เกิดระบบการหนุนเสริมเยาวชนมีประสิทธิภาพ
จึงสนใจพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่หนุนเสริมเจ้าหนาที่ ผู้ปฏิบัติงาน ใน 3 แนวทาง ได้แก่ 1) พัฒนากิจกรรมออนไลน์ ที่สร้างความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงตัวตนภายในสำหรับเจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึก 2)พัฒนาหลักสูตรการเปลี่ยนแปลงตัวตนภายในสำหรับเยาวชนในศูนย์ฝึกในสถานการณ์โรคระบาด 3) พัฒนาระบบวัดและประเมินผลเจ้าหน้าที่และเยาวขน
แนวคิดโครงการ
- ตัวตนภายในของเยาวชนที่เข้มแข็งคือจุดเริ่มการเปลี่ยนแปลงของเยาวชน
- การพัฒนาเยาวชนด้วยแนวคิดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงผ่านการสร้างประสบการณ์ตรงจะเป็นวิธีการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน
- ทีมเจ้าหน้าที่ี่่ที่มีความมั่นคงภายใน เชื่อมั่นในศักยภาพเยาวชน และเชื่อมั่นว่าทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ จะทำให้เกิดระบบการหนุนเสริมเยาวชนมีประสิทธิภาพ
เป้าหมายของโครงการ
- เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมเกิดการปรับเปลี่ยนตัวตนภายใน และเกิดหมุดหมายในการใช้ชีวิต
- เกิดชุดกิจกรรมออนไลน์ที่สร้างความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงตัวตนภายในสำหรับเจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึก – เจ้าหน้าที่จำนวน 10 คน
(Certificate ม.บูรพา ม.มหิดล ศูนย์ฝึกฯ บ้านบึงหรือศูนย์ฝึกที่สนใจ) - เกิดหลักสูตรการเปลี่ยนแปลงตัวตนภายในสำหรับเยาวชนในศูนย์ฝึกฯ ในสถานการณ์โรคระบาด – เยาวชนรุ่นละ 15คน/รุ่น (2 รุ่นเยาวชนทั้งหมด 30 คน)
(Certificate ม.บูรพา ม.มหิดล ศูนย์ฝึกบ้านบึงหรือศูนย์ฝึกที่สนใจ) - เกิดระบบการวัดและประเมินผลหลักสูตรของเจ้าหน้าที่และเยาวชนแบบมีส่วนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- เกิดภาคีการทำงานเพื่อพัฒนาเยาวชนในศูนย์ฝึกฯ
ปัญหา
ระบบการดูแลเยาวชนศูนย์ฝึกฯ มีหลายแนวทาง บางแนวทางก็มีข้อจำกัด ดังนั้นการออกแบบหลักสูตรพัฒนาเยาวชนที่เหมาะกับบริบทของศูนย์ฝึกฯ แบบมีส่วนร่วม มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการตัวตนภายใน พัฒนามิติภายในที่เข้มแข็งเพื่อพบคุณค่าความหมายการดำรงชีวิตด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบองค์รวมผ่านการปฏิบัติจริง น่าจะเป็นแนวทางที่ช่วยพัฒนาระบบการดูแลเยาวชนของศูนย์ฝึกฯ
วิธีการแก้ไข
เริ่มต้นจากหาภาคีศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนที่สนใจร่วมสร้างต้นแบบการพัฒนาบุคลากร เจ้าหน้าที่และเยาวชนของศูนย์ฝึกฯ จากนั้นร่วมกันพัฒนาหลักสูตรแบบมีส่วนร่วม ระหว่างทีมทำงาน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน และเยาวชนจากศูนย์ฝึก เริ่มต้นจากพัฒนากิจกรรมที่สร้างความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงตัวตนภายในสำหรับเจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึก พัฒนาหลักสูตรการเปลี่ยนแปลงตัวตนภายในสำหรับเยาวชนในศูนย์ฝึกในสถานการณ์โรคระบาด และพัฒนาระบบวัดและประเมินผลการเปลี่ยนแปลงของเยาวชนสำหรับเป็นแนวทางการทำงานของเจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึก